5 งานประเพณี ยโสธร

        

            งานประเพณี/กิจกรรมที่ 1 งานประเพณีบุญบั้งไฟ 

บั้งไฟที่จัดทำมีหลายชนิดคือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน

 

งานประเพณี/กิจกรรมที่ 2 พิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกที่โบสถคริสต์บ้านซ่งแย้

 

(วัดอัครเทวดามิคาแอล) ในช่วงวันวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี) ที่โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จะจัดพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกให้กับคู่บ่าวสาวที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยการจัดพิธีดังกล่าวจัดขึ้นอย่างสมเกียรติของคู่บ่าวสาวและแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน มีขบวนแห่ขันหมาก พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพิธีสมรสแบบคาทอลิก พิธีอวยพร และการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อแสดงความยินดีกับคู่สมรส

 

งานประเพณี/กิจกรรมที่ 3 งานประเพณีแห่มาลัยตำบลฟ้าหยาด

 

จัดบริเวณเทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย ในเทศกาลวันมาฆะบูชา ของทุกปี โดยในงานดังกล่าวชุมชนต่างๆ จะนำข้าวตอกขาวที่คัดจากข้าวเปลือกที่ดีที่สุด มาร้อยเป็นมาลัยและประดับตกแต่งอย่างงดงามสื่อความหมายแทนดอกมณทารพที่จะถวายเป็นพุทธบูชา ในช่วงกลางคืนมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อสมโภชมาลัยจากนั้นก็จะจัดขบวนแห่มาลัยข้าวตอก แห่แหนไปทอดถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดหอก่อง

 

งานประเพณี/กิจกรรมที่ 4 งานสมโภชพระธาตุอานนท์

 

เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ สร้างราว พ.ศ. 2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. 2313-2319 ลักษณะพระธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อย และทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชพระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม

 

งานประเพณี/กิจกรรมที่ 5 การแห่บั้งไฟ

 

จะกำหนดไว้ 3 วัน คือ วันสุกดิบ วันประชุมรื่นเริง และวันจุดบั้งไฟ โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะทำกันที่วัด จุดสนใจอยู่ที่ขบวนแห่บั้งไฟ อันประกอบไปด้วย ขบวนฟ้อนรำ ที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟ นำขบวนบั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วย ลวดลายไทยสีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัด ลวดลายต่าง ๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัว บั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่าง ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่น น้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่น ๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะ ในวันจุดบั้งไฟ ตอนเช้ามีการทำบุญ ถวายภัตตาหาร แล้วแห่บั้งไฟไปรอบพระ อุโบสถ จากนั้นนำบั้งไฟออกไปยังสถานที่ที่จัดไว้สำหรับจุดบั้งไฟ เริ่มด้วยการจุด เสี่ยงทายถึงความอุดมสมบูรณ์ของข้าวกล้าและพืชไร่ในท้องทุ่ง จากนั้นจึงเป็นการ จุดแข่งขัน บั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะ ส่วนนายช่างจะถูกจับโยนลงในโคลนไม่ว่าจะจุดบั้งไฟขึ้นหรือไม่ก็ตาม